วิธีสร้างบุญบารมี
โดย
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
บุญ ความหมายตามพจนานุกรรมพุทธศาสน์ ของพระพรหมคุณาภรณ์ กล่าวว่า บุญ คือ เครื่องชำระสันดาน ความดี กุศล ความสุข ความประพฤติชอบทางกาย วาจา ใจ และกุศลธรรม
บารมี คือ คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง
วิธีสร้างบุญบารมีในพระพุทธศาสนา มีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ การให้ทาน การถือศีล และการเจริญภาวนา นิยมเรียกกันว่า “ทาน ศีล ภาวนา” ซึ่งการให้ทานหรือการทำทานนั้น เป็นการสร้างบุญเป็นเบื้องต้นที่สุด ได้บุญน้อยที่สุด ในการทำบุญทั้ง 3 ขั้นตอน ซึ่งการให้ทานนี้ ไม่ว่าจะทำมากน้อยอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากเกินไปกว่าการเจริญภาวนาได้ เพราะฉะนั้น การเจริญภาวนาจึงเป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุด ได้บุญมากที่สุด ทุกวันนี้คนเราส่วนใหญ่มักจะรู้จักแต่การให้ทานอย่างเดียว ดังนั้นวิธีการที่จะลงทุนน้อยที่สุดแต่ได้บุญบารมีมากทีสุดมีดังต่อไปนี้
1. การทำทาน
การทำทาน ได้แก่ การสละทรัพย์สินสิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ ให้แก่บุคคลอื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุข ด้วยความมีเมตตาจิตของตน ทานที่ได้ทำไปนั้น จะทำให้ผู้ทำทานได้บุญมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ
องค์ประกอบข้อที่ ๑ “วัตถุทานที่ให้ ต้องบริสุทธิ์” วัตถุทานที่ให้จะต้องเป็นของที่บริสุทธิ์ จะต้องเป็นสิ่งของที่ตนได้แสวงหา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ในการประกอบสัมมาอาชีพ ไม้ใช่ของที่ได้มาด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น
องค์ประกอบข้อที่ ๒ “เจตนาให้ทาน ต้องบริสุทธิ์” การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริง ก็เพื่อเป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่ เหนียวแน่น ความหวงแหน หลงใหลในทรัพย์สมบัติของตน อันเป็นกิเลสหยาบ
องค์ประกอบข้อที่ ๓ “เนื้อนาบุญ ต้องบริสุทธิ์” คำว่า เนื้อนาบุญ ได้แก่บุคคลผู้รับการทำทาน ของผู้ทำทานนั่นเอง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด แม้ว่าองค์ประกอบข้อที่ 1 และ 2 จะบริสุทธิ์ครบถ้วนดี แต่ตัวผู้รับการทำทานเป็นคนไม่ดี ทานที่ทำไปนั้น ก็ไม่ผลิดอกออกผล
2. การรักษาศีล
ศีล แปลว่า ปกติ คือสิ่งหรือกติกาที่บุคคลจะต้องระวังรักษาตามเพศและฐานะ ศีลมีหลายระดับ คือ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 คำว่า มนุษย์ นั้นคือ ผู้ที่มีใจอันประเสริฐ คุณธรรมที่เป็นปกติของมนุษย์ที่จะต้องทรงไว้ให้ได้ตลอดไป ก็คือ ศีล 5 บุคคลที่ไม่มีศีล 5 ไม่เรียกว่ามนุษย์ แต่อาจจะเรียกว่า คน ซึ่งแปลว่า ยุ่ง ผู้ที่จะมีวาสนาได้เกิดมาเป็นมนุษย์ จะต้องถึงพร้อมด้วย มนุษย์ธรรม 10 ประการเป็นปกติ ซึ่งรวมศีล 5 ด้วย การรักษาศีล เป็นการเพียรพยายาม เพื่อระงับโทษทางกายและวาจา อันเป็นเพียงกิเลสหยาบ มิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมี ที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน และในการถือศีลด้วยกันเองก็ยังได้บุญมากน้อยต่างกันออกไปด้วย
อานิสงส์ของการรักษาศีล 5 คือ
1. ผู้ที่รักษาศีลข้อ 1 ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัย ไม่ขี้โรค อายุยืนยาว ไม่มีศัตรูหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ มาทำให้ตัวเองได้รับบาดเจ็บหรือตายก่อนวัยอันควร
2. ผู้ที่รักษาศีลข้อ 2 ด้วยการไม่ลักทรัพย์ของผู้อื่น เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย มีเงินทองมาก ประกอบอาชีพค้าขายก็จะได้กำไรดี ทรัพย์สมบัติที่มีก็จะอยู่ตลอดไป ไม่ประสบกับภัยพิบัติต่าง ๆ
3. ผู้ที่รักษาศีลข้อ 3 ด้วยการไม่ล่วงประเวณีในคู่ครอง หรือคนในปกครอง ของผู้อื่น เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะประสบโชคดีในความรัก มักจะได้พบรักแท้ ไม่อกอัก เมื่อมีลูกก็จะเป็นคนที่ว่านอนสอนง่าย ไม้ดื้อด้าน
4. ผู้ที่รักษาศีลข้อ 4 ด้วยการไม่กล่าวมุสา เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ จะทำให้เป็นผู้ที่มี สุ่มเสียงไพเราะ พูดจาน่าฟัง มีเหตุมีผล จะเจรจาสิ่งใดก็จะมีผู้เชื่อฟัง สามารถว่ากล่าวอบรมสั่งสอน บุตรธิดาและลูกศิษย์ได้
5. ผู้ที่รักษาศีลข้อ 5 ด้วยการไม่ดื่มสุราเมรัย เครื่องหมักดอง ของมึนเมา เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้เป็นผู้ที่มีสมอง ประสาท ปัญญา ความคิดแจ่มใส จะศึกษาเล่าเรียนสิ่งใดก็จะจดจำได้ง่าย ไม่หลงลืม ฟั่นเฟือน ไม่เสียสติวิกลจริต ไม่เป็นโรคสมอง โรคประสาท ไม่ปัญญาอ่อน
3. การภาวนา
การเจริญภาวนานั้นเป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา และสูงกว่าศีลมาก การเจริญภาวนามี 2 อย่าง คือ 1 การทำสมาธิ 2 การเจริญปัญญา
1. การทำสมาธิ ได้แก่ การทำจิตให้เป็นสมาธิหรือเป็นฌาน หมายถึง การทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านไปยังอารมณ์อื่น วิธีภาวนามีมากมายหลายร้อยวิธี ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติเป็นแบบอย่างเอาไว้ 40 ประการ เรียกว่า กรรมฐาน 40
2. การเจริญปัญญา เมื่อจิตของผู้บำเพ็ญตั้งมั่นในสมาธิ จนมีกำลังดีแล้ว จิตของผู้บำเพ็ญเพียรก็ย่อมมีกำลัง และอยู่ในสภาพที่นิ่มนวล ควรแก่การเจริญวิปัสสนาต่อไปได้
อารมณ์ของวิปัสสนา จะต่างจากอารมณ์ของสมาธิ เพราะสมาธิมุ่งให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเท่านั้นไม่นึกหรือคิดอะไร วิปัสสนาจะไม่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว แต่จะเป็นจิตที่ใคร่ครวญ หาเหตุและผลในสภาวธรรม เรียกว่า รูป-นาม โดยรูป มี 1 นามนั้น มี 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ขันธ์ 5 เป็นเพียงอุปาทานขันธ์ เพราะแท้จริงแล้วเป็นเพียง สังขารธรรม ที่เกิดจากการปรุงแต่ง แต่เพราะอวิชชา คือ ความไม่รู้เท่าทันสภาวธรรมจึงทำให้เกิดความยึดมั่น ด้วยอำนาจอุปาทานว่าเป็นตัวตนและของตน การเจริญวิปัสสนา ก็โดยมีจิตพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงว่าอันสภาวธรรมทั้งหลายอันได้แก่ขันธ์ 5 นั้น ล้วนแต่มีอาการเป็น ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ไม่อาจตั้งมั่นอยู่ในสภาพเดิมได้
ทุกขัง ได้แก่ สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สรรพสิ่งทั้งหลายอันเป็นสังขารธรรม เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่อาจที่จะทรงตัว ตั้งมั่นทนทานอยู่ในสภาพนั้น ๆ ได้ตลอดไป แต่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น
อนัตตา ได้แก่ ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ โดยสรรพสิ่งทั้งหลาย อันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อนานไปก็ย่อมเปลี่ยนแปลง แล้วแตกสลาย กลับคืนสู่สภาพเดิม
|